20 พฤษภาคม 2554

โกวิโท ภิกขุ


Kovido Bhikkhu
โกวิโท ภิกขุ

    
เกิดวันจันทร์ที่ 18 พ.ย. 2517  อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
พี่น้อง :  รวมจำนวน 2 คน,  เป็นพี่คนโต,  น้องชาย 1 คน (เสียชีวิตแล้ว)
อุดมศึกษา ม.เกษตรศาสตร์ (B.S. Forestry , M.S. Economic Botany)
อดีตการทำงาน :  จนท.บริหารงาน โครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนฯ สวนจิตรลดา 
                       จนท.ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน  
                       จนท.ฝึกอบรม บริษัทเอกชน 
                       ผจก.แผนกบุคคล / ผช.ผจก.ฝ่ายขาย บริษัทเอกชน 
>>> เห็นธรรมแล้วจึงเกิดศรัทธา :   
               จากที่มีความสงสัยมาตั้งแต่เด็ก...ว่ามนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร? สิ่งไหนคือสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรทำ? ใครคือแบบอย่างของการดำเนินชีวิตที่ยอดเยี่ยม?  แล้วก็เริ่มพยายามค้นหาคำตอบเรื่อยมา แต่ก็ยังไม่พบ จนอายุเกือบครึ่งวัยเกษียณจึงสรุปเอาเองว่า..แบบแผนชีวิตมาตรฐานของมนุษย์ก็คือ การได้มีครอบครัวที่อบอุ่นและมีความสุขอย่างพอดี  จากนั้นข้าพเจ้าจึงได้เริ่มเตรียมการเพื่อจะหันมาดำเนินชีวิตไปในรูปแบบดังกล่าว  เมื่อใช้เวลาประมาณหนึ่งปีเศษในการศึกษาอบรมเพื่อจะไปประกอบธุรกิจส่วนตัว  ก็คิดว่าพร้อมแล้วที่จะเริ่มตั้งหลักชีวิต  จึงได้ยื่นใบลาออก (ม.ค.47) แต่หัวหน้าก็ขอให้ช่วยงานต่อไปอีกสักระยะหนึ่งจนกว่าจะหาคนมาทำงานแทนได้ ซึ่งเราก็ตกลงเพราะว่าไม่รีบร้อนอะไร
           จนผ่านไปเกือบครบปี (พ.ย.47) ก็ยังไม่ได้ออกจากงาน ซึ่งก็เป็นจังหวะพอดี ได้มีพี่คนหนึ่งชวนไปที่วัดแห่งหนึ่งที่เชิงเขาใหญ่ (วัดถ้ำกฤษณาฯ) จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้สัมผัสกับความประหลาดใจ เมื่อได้เห็น กระดาษทิชชู่สีขาวพับหนึ่ง ที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า และ ภาพปฏิจจสมุปบาท”  ในนาทีนั้นก็เกิดปัญญา นึกถึงตัวเองที่เป็นเหมือนคนเดินทางอยู่ในความมืด แต่แล้วก็ได้เห็นแสงสว่างส่องทาง เห็นโทษภัยในวัฏสงสารการเวียนว่ายตายเกิด และมีศรัทธาต่อพระพุทธองค์ ผู้บอกทางแก่คนหลงทาง อย่างตั้งมั่นและชัดเจน สรุปได้ทันทีว่า...ชีวิตที่เหลือต่อไปนี้จะต้องออกบวชเพื่อเดินตามรอยพระพุทธองค์ (นั่นคือก้าวแรก เพราะตั้งแต่เกิดมาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องศาสนา)  จึงได้เล่าเรื่องราวให้พี่ที่ไปด้วยกันฟังเอาไว้  ซึ่งก็สร้างความแปลกใจให้กับพี่ๆ ที่ไปด้วยกัน
          เมื่อกลับจากวัด ก็ได้เริ่มอ่านหนังสือธรรมะหลายเล่ม โดยตั้งต้นจากผลงานของท่านพุทธทาส (ไม่รู้ทำไมจึงเลือกผลงานของท่าน) อ่านแล้วก็เข้าใจได้อย่างรวดเร็ว เกิดความรู้สึกเหมือนคุ้นๆ ว่าเคยรู้เรื่องเหล่านี้มาก่อนทั้งๆ ที่ไม่เคยอ่านหนังสือธรรมะ  แล้วจากนั้นก็มีคนนำหนังสือธรรมะทางด้านกรรมฐานหลายเรื่องมาให้อ่าน  และเริ่มการเดินทางไปหาครูบาอาจารย์ โดยใช้ลางสังหรณ์บางอย่างนำทาง (ซึ่งพอมองย้อนกลับไป บางครั้งก็เป็นการเดินทางที่เสี่ยงอันตรายมาก แต่ตอนนั้นไม่ได้คำนึงถึงเลย)

>>> กลับสู่แดนดินถิ่นนักปราชญ์ :    
          ม.ค.48 ก็ได้ออกจากงานอย่างไม่มีอะไรติดค้าง ยกเลิกแผนการดำเนินชีวิตทางโลก เดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปขออนุญาตบิดามารดาว่าอยากออกบวช แต่คำตอบที่ได้รับคือ รอให้ฉันตายก่อนน่ะแล้วค่อยไปบวช (เป็นอย่างที่คาดไว้) เมื่อยังไม่ได้บวชก็เลยใช้เวลาช่วงที่ว่างงานนั้น เก็บตัวทุ่มเทกับการศึกษาว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรบ้าง ด้วยการอ่านจากตำราพระไตรปิฎก, ตำราวิสุทธิมรรค, วิมุติมรรค, ประวัติพระอสีติมหาสาวก ประวัติและคำสอนของครูบาอาจารย์ยุคเก่า-ปัจจุบันหลายๆ สำนัก (โดยเฉพาะผลงานของท่านพุทธทาส และหลวงปู่ชา) ตลอดจนการฟังซีดีการบรรยายธรรมะของพระสายกรรมฐาน  ขณะเดียวกันก็ทดลองฉันมื้อเดียว ถือศีลแปดในชีวิตประจำวัน อยู่ประมาณ 6 เดือน บางช่วงไม่หลับไม่นอน ไม่พูดไม่จากับใคร จนพ่อแม่เริ่มวิตกกังวลว่าเราคงใกล้จะบ้า  สิ่งที่เกิดขึ้นภายในคือเริ่มมองโลกในแง่มุมที่ต่างไปจากเดิมเป็นอย่างมาก

>>> จำต้องย้อนกลับมาทำงานอีกครั้ง :
          ด้วยความที่สงสารพ่อแม่ เพราะเห็นท่านดูวิตกกังวลมาก ปลายปี 48 เราจึงต้องหวนกลับมาทำงานอีก  แต่ก็ใช้เวลาวันหยุดที่มีเกือบ 90% ออกท่องไปตามวัดต่างๆ เพื่อ แสวงหาครูบาอาจารย์สอนด้านการปฏิบัติ ขณะเดียวกันก็ยังคงอ่านหนังสือธรรมะและฟังเทศน์ เฉลี่ย 3 เรื่องต่อวัน หรือกว่า 1,000 เรื่องต่อปี ซึ่งก็ทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องกว่า 4 ปี  เวลากลางดึกเริ่มรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาเพื่อนั่งสมาธิเป็นจนเป็นกิจวัตร (แม้จะลองผิดลองถูกเอาเอง)  และช่วงนั้นก็ ไม่เคยเอ่ยเรื่องขอบวชอีกเลย  มุ่งเพียงทำความเพียรด้วยการศึกษาด้วยตนเองเรื่อยๆ มา เพราะยังไม่รู้สึกว่าถูกใจครูบาอาจารย์ท่านไหน  สถานที่วิเวกที่ชอบใจและไปหลายครั้งคือ วัดภูหล่น (ปฐมวิปัสสนาสถานของหลวงปู่มั่น)   
          ต่อมาชีวิตทำงานช่วงหลัง มีความก้าวหน้าขึ้น (โดยจำใจ) จากที่เคยมีลูกน้องแค่คนสองคน กลับกลายเป็นหกสิบเจ็ดสิบคน  ภาระงานก็มากขึ้นจนเบียดบังเวลาการไปวิเวก และเริ่มรู้สึกอึดอัดมากยิ่งขึ้นกับภาระหน้าที่บางอย่างที่ไม่อยากทำ(แต่ก็ต้องทำ)  และมารยาททางสังคมโลกหลายอย่างก็มีแรงฉุดดึงทำให้เรารู้สึกไหลไปในทางต่ำอยู่เนืองๆ  ยิ่งนานวันก็ยิ่งสะสมความรู้สึกอึดอัดมากขึ้นทุกที  ในขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่ง ความศรัทธาและความตั้งใจมั่นต่อการศึกษาธรรมะก็ยิ่งทวีกำลังมากขึ้นเพราะการกระทำอยู่อย่างต่อเนื่อง

>>> ออกจากงาน และ ออกจากเรือน :  
               ปลายปี 51 ก็ถึงจุดแตกหัก เพราะรู้สึกว่าเต็มที่แล้วกับชีวิตฆราวาส ความคิดนี้เกิดขึ้นอย่างราบเรียบ สงบ มั่นคง ไม่วอกแวก พอดีๆ ไม่ได้รู้สึกโล่งอก หรือดิ้นรนจนหนักใจ  โดยวางแผนไว้ว่าจะออกไปเป็นอนาคาริกคือ ขับรถท่องไปตามวัดต่างๆ แล้วก็พักอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง จากนั้นก็ไปต่อ (ขอทำแค่นี้ก็พอใจ) ไม่เน้นเรื่องบวชแล้ว เพราะยังสรุปไม่ได้ว่าจะไปอยู่กับอาจารย์ท่านไหน  เบื้องต้นคิดว่าจะเข้าวัดนั้นออกวัดนี้จนกว่าพ่อแม่จะยอมอนุญาตให้บวช  (แต่ถ้าทำอย่างนี้อยู่สักครึ่งปี ท่านยังไม่ยอม ก็คิดไว้ว่าจะใช้วิธีอดอาหารประท้วง)  หนึ่งสัปดาห์แห่งการเป็นอนาคาริก ก็รู้สึกเส้นผมเป็นภาระที่ต้องคอยดูแล จึงไปให้ร้านตัดผมจัดการจนเรียบ (อีกอย่างคือเราจะได้รู้สึกอายๆ ไม่อยากกลับเข้ามาเดินในชุมชนเมืองอีก) 
          ก็ไปได้ประมาณ 3-4 วัด  แม่ก็โทรตามเป็นระยะ แต่พ่อนั้นไม่ยอมพูดด้วยเลยสักคำ  เวลาผ่านไปหนึ่งเดือน พ่อแม่จึงบอกว่าอนุญาตให้บวชแล้ว แต่ว่าจะไม่จัดงานบวชให้น่ะ และท่านก็ถามว่าจะไปบวชอยู่ที่ไหน  ในตอนนั้นเราไม่ได้รู้สึกดีใจอะไร แล้วก็ยังตอบท่านไม่ได้ว่าสรุปแล้วจะไปบวชที่ไหน  แต่ก็ได้นัดหมายกับ หลวงพ่อไพฑูรย์ ขันติโก เอาไว้ว่าจะไปโคราชกับท่าน ก็เลยขับรถมาจอดอยู่ถนนข้างวัด แล้วก็ นั่งเงียบๆ คนเดียวอยู่ในรถ ใช้พลังความคิดอย่างหนัก  ณ เวลานั้นก็มีตัวเลือกอยู่ในใจ 3 วัด คือ วัดภูหล่น วัดป่าช้าบุ่งมะแลง และสำนักสงฆ์วัดป่าเครือวัลย์ (ปลายปี 52 ก็ได้ตั้งเป็นวัดสุภัททมงคล) 
          สองวัดแรกนั้นเราคุ้นเคยเพราะไปบ่อย แต่ก็อยู่ไกลจากพ่อแม่ สุดท้ายจึงสรุปว่า เลือกสำนักสงฆ์วัดป่าเครือวัลย์ นี้เอง ด้วยเหตุผลที่ว่า สถานที่วิเวกดี, มีคนเข้าออกไม่มาก, มีครูบาอาจารย์ที่มีประสบการณ์ในวิถีชีวิตแบบพระกรรมฐาน, เป็นช่วงที่ท่านไม่มีลูกศิษย์อยู่ด้วย และวัดก็อยู่ไม่ไกลจากพ่อแม่ (แต่ก็ไม่ใกล้นัก) ท่านพอจะไปหาเราได้สะดวก เพราะถ้าเราหนีไปไกลๆ ในทันทีเลย ก็คงจะเป็นการทำร้ายจิตใจพวกท่านมากเกินไป อีกอย่างคือจะได้มีโอกาสชักนำท่านให้เข้าวัดมากขึ้นด้วย

>>> บวชเป็นผ้าขาว :  
               เมื่อได้ตัดสินใจขออยู่กับหลวงพ่อไพฑูรย์อย่างชัดเจน  ท่านก็โกนผมให้ใหม่ บวชเป็นผ้าขาวอยู่กับท่าน และก็ติดสอยห้อยตามท่านไปเรื่อยๆ  แต่ท่านก็ยังไม่ได้อบรมอะไร หรือแม้แต่พาทำวัตร  ท่านปล่อยให้อยู่สบายๆ เป็นส่วนตัว  แต่เราเองขณะนั้นก็ มุ่งทำความเพียรโดยส่วนตัวทันที (ลองผิดลองถูกไปก่อน) แล้วก็ยังคงศึกษาธรรมะโดยการอ่านและฟังไปเรื่อยๆ  และสิ่งที่ต้องการเรียนรู้จากพระอาจารย์ก็คือการดำเนินชีวิตอย่างนักบวช  ส่วนเรื่องธรรมะชั้นลึกนั้นไม่ได้คาดหวังอะไรไว้ ก็แล้วแต่ท่านจะเมตตา เพราะตั้งใจจะพึ่งตนเองเป็นหลักอยู่แล้ว  อีกอย่างตั้งแต่ได้พบกับพระอาจารย์มา 2-3 ครั้ง ท่านก็ไม่ได้คุยธรรมะอะไรลึกซึ้งเป็นพิเศษ (เราอาจฟังไม่รู้เรื่อง) แต่มีที่สะดุดใจคือ ครั้งแรกที่พบท่าน ท่านพูดทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าอยากมาเป็นลูกศิษย์ก็มาน่ะ (คำพูดนี้สำคัญมาก เพราะเราไปที่อื่น แม้ครูบาอาจารย์ท่านจะเมตตาแต่ก็ไม่มีใครพูดคำนี้  จะมีบ้างที่พูดว่า มาบวชที่นี่ซิ มาบวชอยู่ด้วยกันน่ะ ซึ่งมันยังไม่รู้สึกตรงใจเราเสียทีเดียว)  แล้วก็ครั้งที่สองได้มาพักอยู่กับท่านสองวัน แล้วขอโอกาสเรียนถามท่านว่า..ผมอยากจะบวชแต่ที่บ้านไม่ยอมจะทำยังไงดี  ท่านก็ตอบสั้นๆ แค่ว่า ก็ทำความเพียรต่อไป (ท่านไม่ขยายความอะไรอีก) พอเราฟังแล้วกลับรู้สึกผ่อนคลายความกังวลอย่างบอกไม่ถูก ทั้งๆ ที่คำตอบก็ไม่ได้ชัดเจนอะไร แต่เราได้นำไปเป็นแนวทางคือปฏิบัติตนแสดงออกให้พ่อแม่เห็นเจตนารมณ์อย่างชัดเจนอยู่อย่างต่อเนื่อง  ในช่วงที่อยู่เป็นผ้าขาวกับท่าน ท่านก็ให้โอกาสเราอยู่เป็นส่วนตัวมาก และไม่ค่อยเรียกใช้หากไม่จำเป็น (แต่ก็รู้สึกได้ว่าเราอยู่ในสายตาของท่านตลอด)

>>> บรรพชาเป็นสามเณร :  
                         ตอนเช้าเวลาประมาณตีห้า วันที่ 25 มี.ค.52 หลังฝนตกอย่างหนักตลอดคืน หลวงพ่อมาเรียกที่กุฏิ บอกว่าวันนี้ท่านจะไปเทศน์ที่วัดหนองป่าพง และจะพาไปขอบวชด้วย  ท่านก็จัดเตรียมบริขารที่จำเป็นให้  วันนั้นเป็นวันอุโบสถ หลังคณะสงฆ์ร่วมกันฟังปาฏิโมกข์จบ ท่านเจ้าคุณ พระราชภาวนาวิกรม (หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง) ท่านก็ทำพิธีบวชเณรให้ท่ามกลางพระสงฆ์เกือบ 50 รูป  สาเหตุที่วันนั้นท่านเมตตาบวชเณรให้เราคนเดียว เป็นกรณีพิเศษ (ก่อนผ้าขาวคนอื่นๆ ในวัดหนองป่าพงปีนั้น) ก็คงเป็นเพราะท่านเมตตาเอื้อเฟื้อต่อหลวงพ่อไพฑูรย์ผู้เป็นอาจารย์ และอาจเห็นว่าเราจะได้กลับไปอยู่อุปัฏฐากรับใช้พระอาจารย์  เนื่องจากท่านเป็นพระเถระแล้วแต่ก็ยังอยู่ลำพังผู้เดียว
          แม้จะบวชเณรแล้ว พระอาจารย์ท่านก็ยังไม่ได้อบรมอะไรให้เป็นพิเศษ ยังคงปล่อยให้ทำความเพียรอยู่ส่วนตัว จะมีก็แต่แนะนำให้อ่านพระวินัยและข้อวัตรต่างๆ โดยเน้นที่ตำราบุพพสิกขาวรรณนา ซึ่งหลวงปู่ชาท่านใช้เป็นมาตรฐาน  จนล่วงผ่านวันสงกรานต์ไปแล้วท่านจึงเริ่มพาทำวัตรสวดมนต์และค่อยๆ อบรมเรื่องทั่วๆ ไป  พอ ช่วงฤดูเข้าพรรษา ปี 52 จึงเริ่มอบรมเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ

>>> อุปสมบทเป็นพระภิกษุ :  
          ในช่วงปลายฤดูพรรษา วันที่ 22 ส.ค.52 ท่านเจ้าคุณ (หลวงพ่อเลี่ยม) ท่านก็ทำพิธีอุปสมบทให้พร้อมๆ กับหมู่เพื่อนสามเณร รุ่นนั้นก็มีด้วยกัน 10 รูป เราอุปสมบทเป็นคนแรก โดยท่านตั้งฉายาให้ว่า โกวิโท ซึ่งท่านเจ้าคุณเขียนคำแปลใส่กระดาษให้ว่า โกวิโท แปลว่า ผู้ฉลาด (ยังเป็นคำแปลของฉายา) เสร็จแล้วก็กลับมาจำพรรษาอยู่กับหลวงพ่อไพฑูรย์ตามเดิม  ในพรรษาแรกนี้นอกจากฟังหลวงพ่ออบรมแล้ว เราก็ได้ ศึกษาเรื่องปรมัตถธรรมเพิ่มเติม เพราะรู้สึกว่าช่วยทำให้เราเข้าใจธรรมะได้ชัดเจนขึ้น อาจเป็นเพราะเรามีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์อยู่มาก  และวันหนึ่งบังเอิญได้อ่านนิตยสารเจอเรื่องราวของหลวงปู่ฉลวย(วัดป่ามหาวิทยาลัย อ.หัวหิน) ซึ่งเป็นสหธรรมิกกับหลวงปู่ชา และหลวงพ่อไพฑูรย์เคยไปอยู่ศึกษาธรรมะจากท่านและมักกล่าวยกย่องท่านอยู่เนืองๆ  นิตยสารเล่มนั้นเขียนไว้ว่าหลวงปู่ฉลวยมักจะหยิบหนังสือสองเล่มมาอ่านทบทวนเป็นประจำอยู่ ซึ่งเป็น คำสอนของนิกายเซ็น ชื่อหนังสือ สูตรเว่ยหล่าง และ คำสอนฮวงโป (แปลโดยท่านพุทธทาส)  เราจึงลองหามาอ่าน พอได้อ่านก็รู้สึกพอใจกับคำสอนแนวนี้มาก เพราะอ่านทีไรเหมือนได้ระเบิดความคิดเราให้เกิดความเข้าใจธรรมะได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

          สำหรับเรา..กว่าจะได้เป็นบรรพชิตนั้นแสนยาก ขนาดบวชแล้วบรรดาญาติมิตรก็ยังฉงนสนเท่ห์ว่าทำไมเราตัดสินใจทำ(โง่ๆ)อย่างนี้ และแทบจะไม่มีใครเห็นดีเห็นงามร่วมอนุโมทนาด้วย แล้วก็ไม่มีใครได้ร่วมงานบวชเรา เพราะไม่มีฆราวาสคนไหนรู้ด้วยซ้ำว่าเราไปบวชวันไหน ยกเว้นพระสงฆ์ในวัดหนองป่าพง (นี่เป็นข้อวัตรที่สืบต่อกันมาในสำนัก ให้ระลึกว่าบัดนี้เป็นผู้ออกจากเรือน ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว)  แถมมีเสียงบ่นแว่วๆ มาให้ได้ยินอยู่เนืองๆ เช่น คนไม่ทำงานก็คือคนเรียนไม่จบ,  พระพุทธเจ้าเขามีแล้ว จะไปบวชให้มันเป็นอะไรอีก,  คิดยังไงอยู่ดีๆ ก็อยากจะไปเป็นขอทานไม่เสียดายความรู้ที่ไปร่ำเรียนมาหรือไง,  กว่าจะเรียนจบมาขนาดนี้ลงทุนไปเท่าไหร่,  เห็นแก่ตัว ทิ้งพ่อทิ้งแม่,  เรียนจบมาก็สูง คิดได้แค่นี้เหรอ, จะบวชนานไหม เดี๋ยวทำมาหากินไม่ทันเขาน่ะ, ฯลฯ  ชนิดที่ว่าหลายคนได้ยินแล้วก็คงสะอึก (มันน่าคิดตรงที่ว่า ทุกคนเป็นชาวพุทธ กราบพระ ใส่บาตร ไปวัด ทำบุญ และยินดีกับงานบวชตามประเพณีของคนอื่น แต่พอเราคิดจะบวชไม่สึกนี่กลับเห็นว่าเป็นการกระทำของคนโง่เขลาเบาปัญญา ประหนึ่งว่าเราคงเสียสติไปแล้ว) 
          แต่เราเองก็ไม่หวั่นไหวกับคำพูดเหล่านี้หรอก  ถ้าจะมีคิดไปบ้างก็ตรงที่ว่า... เรานี่โง่เสียเวลาหลงอยู่ในโลก เหมือถูกปิดหูปิดตาอยู่ตั้งนาน   แต่อย่างไรก็ตาม สรุปแล้วเราก็ไม่ได้โกรธเคืองหรือน้อยใจใคร หรือเสียดายอะไรกับวันเวลาในอดีตที่ผ่านไป เพราะเมื่อทบทวนดูแล้วก็รู้ว่าทั้งหมดนั้นเป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้เข้าใจและตระหนักยิ่งขึ้นว่า...เรื่องราวอย่างโลกๆ มันก็ เป็นอย่างนั้นเอง   
          และเมื่อวันเวลาผ่านไป...ความกังวลห่วงใยต่อพ่อแม่ และเรื่องเกี่ยวกับทางโลก ก็ค่อยๆ ถูกทิ้งห่างไป และขบคิดชำระไปด้วยกำลังแห่งสติปัญญา  ประเด็นความสนใจค่อยๆ หดเข้ามา..หดเข้ามา..จนมาจดจ่ออยู่ที่งานหลัก คือ งานศึกษาเรื่องกายกับใจตัวเอง เพื่อมุ่งจะ จบตัวเอง ให้ได้ตามคำสอนสูงสุดแห่งพุทธศาสนา  ซึ่งแม้ว่าจะยังมีงานอันหนักและซับซ้อนที่จะต้องทำ แต่เมื่อมีโอกาสแล้ว (ได้เกิดเป็นมนุษย์ และได้รู้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์) ก็ ต้องพยายาม ใช้โอกาสนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด
          ปัจจุบันเรายังถือนิสัยอยู่กับ พระอาจารย์คือ หลวงพ่อไพฑูรย์ ขันติโก (ตามวินัยสงฆ์อย่างน้อยก็ 5 พรรษาขึ้นไป) และอุปัฏฐากรับใช้ท่านเท่าที่จะคิดได้และทำได้  ฉะนั้น ใน ช่วงนี้ก็ตั้งใจศึกษาคำอธิบายธรรมะของท่าน บันทึกเอาไว้ และเผยแพร่สืบทอดต่อไป เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ใครบ้าง  เพราะท่านเองก็ไม่เคยคิดว่าจะมีลูกศิษย์หรือจะมีใครมาอยู่ร่วมด้วย เพราะภาษาธรรมะของท่านค่อนข้างฟังยาก เน้นกำลังแห่งสติปัญญา ไม่ได้เน้นไปทางอิทธิปาฏิหาริย์อย่างที่กระแสมวลชนเขานิยมกัน  แต่ เมื่อมันมีเหตุปัจจัยให้ต้องทำ ก็เลยต้องทำกันไปตามเรื่อง ทั้งผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นลูกศิษย์  


------------------------------------------------------------------------

>>> อุบาสก ปีที่ ๑ :  ( ๒๕๔๗)
          เมื่อได้ดวงตาเห็นแสงสว่างและทิศทางที่จะเดินก้าวไปแล้ว ก็ใช้เวลาศึกษาผลงานของท่านพุทธทาส (เท่าที่จะหาได้จากร้านหนังสือทั่วไป) และหนังสือธรรมะกัณฑ์เทศน์ของครูบาอาจารย์หลายเล่มจากที่พี่ๆ หลายคนนำมาให้  ส่วนการปฏิบัตินั้นก็เริ่มฝึกนั่งสมาธิเพื่อให้เกิดความสงบในเบื้องต้น  โอกาสดีที่อยู่ใกล้วัดอโศการาม(เดินไปได้) และสวนหลวงฯ จึงได้ใช้เป็นสถานที่สำหรับปลีกวิเวกไปอ่านหนังสือและนั่งสมาธิ  แล้วก็ไปปฏิบัติเองบ้างและเข้าร่วมคอร์สบ้างที่วัดถ้ำกฤษณาฯ (สาขาวัดสังฆทาน) ต.หมูสี  ใกล้กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

>>> อุบาสก ปีที่ ๒ :  ( ๒๕๔๘)
          อ่านหนังสือกัณฑ์เทศน์ของหลวงพ่อสุธี ชาคโร รู้สึกพอใจ ก็เลยสุ่มเดินทางนั่งรถทัวร์ไปกราบท่านที่วัดป่าบ้านเหล่ากกหุ่ง อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น(คืนก่อนเดินทางก็อธิษฐานจิตว่าขอให้ได้พบท่าน) วันนั้นก็โชคดีที่หลวงพ่อเพิ่งกลับมาจากปราจีนฯ ตอนตีห้า (เที่ยงจะออกเดินทางเข้ากรุงเทพฯ) และก็บังเอิญได้พบกับเพื่อนสมัยเรียน ป.โท ด้วยกัน เขาเป็นศิษย์หลวงพ่ออยู่ก่อน (มาขับรถให้หลวงพ่อชั่วคราว) ในครั้งแรกมีเวลาจำกัด ท่านก็เลยไม่ได้คุยอะไรมากนัก  ดูภายนอกแล้วท่านดุมาก แต่เราก็สัมผัสได้ถึงความเมตตา  จากนั้นก็กลับไปหาท่านอีกครั้ง หลวงพ่อท่านเมตตาให้โอวาทเกี่ยวกับการเจริญกรรมฐาน แล้วท่านก็ให้โอกาสเราได้เดินทางไปวัดป่าบ้านตาดพร้อมกับคณะโยมน้องสาวท่าน (สมดังที่เราเคยปรารถนาไว้ในใจ)  ครั้งนี้ไม่มีโอกาสได้กราบหลวงตามหาบัว (ท่านอาพาธ) แต่ก็ได้กราบและฟังโอวาทจากคุณแม่จันดี (น้องสาวของหลวงตา)  
          กลับไปอยู่ที่อุบลฯ ขออนุญาตพ่อแม่เพื่อจะบวช แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ  จึงใช้เวลาประมาณ ๖ เดือน ทุ่มเทให้กับการอ่านพระไตรปิฎก ตำราชั้นอรรถกถาจารย์ และหนังสือธรรมะของครูบาอาจารย์สายปฏิบัติ (โดยเฉพาะของหลวงปู่ชา) มีเวลาศึกษาอย่างต่อเนื่องมาก เพราะว่างงาน แล้วก็ทดลองถือศีลแปดควบคู่ไปด้วย
          ปฏิปทาที่แสดงออกอย่างชัดเจนทำให้พ่อแม่เริ่มแสดงความกังวล เพราะยังไม่ยอมรับ เราก็เลยปรับสถานการณ์โดยยอมหวนกลับมาเข้าทำงานอีกครั้ง  ช่วงแรกต้องเข้ามาฝึกงานที่กรุงเทพฯ ก็ประจวบเหมาะกับที่หลวงพ่อสุธีท่านเข้ามาพำนักที่กรุงเทพฯ ก็เลยได้ไปกราบท่านอีกครั้ง และก็มีโอกาสได้ไปที่วัดป่าบ้านตาดอีก (ครั้งนี้ได้พบหลวงตามหาบัวดังที่ปรารถนาไว้)

>>> อุบาสก ปีที่ ๓ :  ( ๒๕๔๙)
          ช่วงนี้โอกาสเป็นใจมาก หน้าที่การงานก็ไม่เป็นภาระ มีโอกาสได้ไปปลีกวิเวกตามวัดแทบทุกวันหยุด  โดยตระเวนไปตามวัดป่าต่างๆ ซึ่งอยู่ไกลจากตัวเมือง แม้จะได้รับความเมตตาจากทุกแห่ง แต่ก็ยังไม่พบอาจารย์ที่ตรงใจ  วัดที่ไปบ่อยคือ วัดภูหล่น (ปฐมวิปัสสนาสถานของหลวงปู่มั่น) เพราะพอใจบรรยากาศ และพระอาจารย์ท่านเมตตาเอื้อเฟื้อดีมาก (พระอาจารย์ชาลี) เมื่อมีโอกาสหยุดพักร้อนก็ได้ไปพักอยู่หลายวัน
          ปีนี้ใช้เวลาฟังเทศน์ของพระสายกรรมฐานวันละหลายเรื่อง และยังคงอ่านหนังสือธรรมะต่างๆ ปีนี้ส่วนมากได้ศึกษาผลงานของท่านพุทธทาส  เริ่มตื่นมานั่งสมาธิกลางดึก และเดินจงกรม เป็นกิจวัตร (ไม่มีความชัดเจน แต่ก็ทำเท่าที่ตนเองจะมีความรู้) แต่ก็กลับมาถือศีลห้าตามปกติ (ยกเว้นไปอยู่ที่วัด) เพราะการถือศีลแปดรู้สึกไม่สะดวกกับวิถีชีวิตประจำวัน

>>> อุบาสก ปีที่ ๔ :  ( ๒๕๕๐)
          ช่วงต้นปี ก็ยังคงศึกษาและปฏิบัติเหมือนปีที่ผ่านแล้ว  แต่ต่อมาก็จำเป็นต้องรับตำแหน่งงานที่สูงขึ้น ภาระหน้าที่การงานมากขึ้น ทำให้โอกาสที่จะได้ไปปลีกวิเวกลดน้อยลง อีกทั้งจำเป็นต้องปรับตัวเข้ากับมารยาทสังคมมากขึ้น  เริ่มรู้สึกได้ว่าความหลงและความโกรธ กำลังค่อยๆ กลับมาเติบโตขึ้นอีกอย่างช้าๆ  จึงเป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้กำลังแห่งความอดทน และพยายามจะฝืนมันไว้

>>> อุบาสก ปีที่ ๕ :  ( ๒๕๕๑)
          การศึกษาและปฏิบัติยังคงดำเนินอยู่ แต่มีโอกาสและเวลาน้อยลงกว่าเดิม กำลังแห่งความอดทนจึงเริ่มอ่อนแรง เพราะมีเหตุปัจจัยมากมายที่ส่งเสริมไปในทางฝ่ายต่ำ อีกทั้งมีภาระหน้าที่การงานหลายอย่างที่เราจำใจต้องทำทั้งๆ ที่ขัดกับทัศนคติฝ่ายคุณธรรมของตนเอง  สติปัญญาก็เริ่มใคร่ครวญหาวิธีการที่จะฝ่าฟันให้ผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ไปให้ได้  แต่ก็ไม่พบคำตอบอื่นนอกจากการ ออกบวช
          ปีนี้เป็นช่วงเวลาที่ต้องสร้างเหตุปัจจัยปรุงแต่งเพื่อเสริมกำลังแห่งศรัทธาให้มากขึ้น จึงตระเวนไปกราบเจดีย์ตามสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง เท่าที่จะมีเวลาสะดวก นอกจากที่อุบลฯ แล้วก็ไปทาง นครพนม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ บุรีรัมย์  กำลังศรัทธาเริ่มมากขึ้นชัดเจนก็คราวที่ได้เห็นพระธาตุเสด็จต่อหน้าต่อตาตามคำอธิษฐาน (วัดหนองหญ้าปล้อง สาขาวัดหนองป่าพงที่ ๘๐ อ.ทะเมนชัย จ.บุรีรัมย์) และเมื่อคราวที่ได้มีโอกาสกราบที่เท้าของหลวงปู่จาม (มุกดาหาร) แล้วท่านก็เมตตาเอามือจับที่ศีรษะของเรา
          เมื่อมีกำลังศรัทธาเพียงพอ ตั้งแต่กลางก็รู้สึกว่าเบื่อหน่ายกับวิถีชีวิตฆราวาสอย่างเต็มที่แล้ว  พอปลายปีก็เหมือนเชือกที่รัดรึงไว้มันได้ขาดแล้ว อยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว แม้ว่าพ่อแม่จะยังไม่อนุญาตเราก็จะต้องไป  จึงได้เอ่ยปากบอกกับพ่อแม่ให้ท่านรับทราบ โดยไม่รอคำอนุมัติ แล้วก็ขับรถออกจากบ้านไป นับเป็นการกระทำที่เป็นก้าวสำคัญ เพราะมันเป็นการพิสูจน์ปฏิปทาของตนเอง แล้วในที่สุดมันก็ได้ผล (เร็วกว่าที่คาดไว้) พ่อแม่ก็จำเป็นต้องอนุญาตให้ออกบวชในที่สุด

>>> พรรษาที่ ๑ :  ( ๒๕๕๒)
          ม.ค.๕๒ เป็นฆราวาสผู้ออกจากเรือน ตระเวนไปตามวัดต่างๆ
          ก.พ.๕๒ ตัดสินใจบวชเป็นผ้าขาว ที่วัดสุภัททมงคล
          มี.ค.๕๒ บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดหนองป่าพง
          ส.ค.๕๒ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดหนองป่าพง (พักจำพรรษาที่วัดสุภัททมงคล)
          ปีนี้ได้มีโอกาสทำความเพียรภาคปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เพราะไม่มีภาระใดใด ความเป็นอยู่สะดวกพอเหมาะในทุกด้าน และหลวงพ่อท่านอบรมตลอดช่วงฤดูเข้าพรรษา ทำให้ เริ่มมองเห็นงานที่ต้องทำ และทางที่ต้องเดินชัดเจนขึ้น แทบไม่ได้พูดคุยกับใครเลย หดตัวเข้ามาสนใจอยู่กับการสังเกตศึกษาเรื่องกายใจตัวเอง ให้ความสำคัญไปที่การค้นหาความหมายของคำว่า อนัตตา  แต่ยังคงศึกษาภาคปริยัติอยู่ โดยเน้นศึกษาตำราด้าน ปรมัตถธรรม และคำสอน นิกายเซ็น  พรรษานี้ได้เกิดความคิดปรุงแต่งเป็นบทกลอนขึ้นมาจำนวนมาก เหมือนเป็นคำอุทาน จึงได้จดบันทึกไว้

>>> พรรษาที่ ๒ :  ( ๒๕๕๓)    
          หลวงพ่อท่านเมตตาให้การอบรมเป็นกิจวัตรแบบตัวต่อตัว ต่อเนื่องและเข้มข้น ตลอดทั้งปี เราได้เริ่มบันทึกเสียงไว้ ท่านจึงดำริว่าอยากจะ บรรยายธรรมะไว้เป็นมรดกธรรม”  เราจึงได้ทยอยถอดเทปไปด้วยและศึกษาคำสอนของท่านไปด้วย ประกอบกับการทำความเพียรอย่างต่อเนื่องตามที่ท่านอบรม  พรรษานี้ทำให้เข้าใจชัดเจนว่า ความรู้ทฤษฎี กับ รสชาติของธรรมะจริงๆ แตกต่างกันเป็นคนละเรื่อง และ เริ่มได้สัมผัสรสชาติของธรรมะเกี่ยวกับขันธ์ห้าอย่างที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน  ทำให้ยิ่งมั่นใจมากขึ้นว่าทางที่เราจะเดินต้องไปทางนี้

>>> พรรษาที่ ๓ :  ( ๒๕๕๔)
          เริ่มรู้สึกว่า สติปัญญามีความฉับไว รอบรู้อย่างกว้างขวาง และละเอียดขึ้นมากกว่าเดิมอย่างน่าประหลาดใจ  แต่เมื่อนึกถึงดำริของหลวงพ่อที่ท่านอยากจะทำงาน ชุดมรดกธรรม เพื่อถ่ายทอดภาษาธรรมะของท่านไว้ให้ผู้สนใจได้มีโอกาสศึกษา  เราจึงได้พิจารณาตัดสินใจเลือกที่จะประคับประคองความเพียรแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้รู้ว่าอาจจะทำให้ตนเองต้องเนิ่นช้า  แต่ก็เห็นว่า เป็นประโยชน์ต่อการสืบทอดหลักธรรมของพระพุทธศาสนา  จึงใช้เวลาส่วนใหญ่มุ่งทำงานเพื่อผลิตผลงานชุดมรดกธรรมของหลวงพ่อ และเริ่มเผยแพร่ออกไปในรูปแบบของ หนังสือ แผ่นซีดี และจัดทำเว็บไซท์ของวัด (ลงเผยแพร่ประวัติหลวงพ่อ รวบรวมรูปภาพของท่าน คำอธิบายธรรมะ และไฟล์เสียงบรรยาย)

          ชีวิตของเราที่เดินทางมาถึง ณ วันนี้ เราสรุปได้ว่า พอใจในระดับหนึ่ง  ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะฟลุ๊ค ไม่ใช่เพราะบังเอิญ ไม่ใช่เพราะโชคดี ไม่ใช่เพราะปาฏิหาริย์ แต่มัน สมควรตามเหตุปัจจัย ของมันเอง 
          อย่างไรก็ตาม อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ถ้ายังคงมีชีวิตอยู่ต่อไป ก็คิดไว้ว่าเมื่อพ้นจากการถือนิสัยอยู่กับอาจารย์ อย่างน้อยก็ ๕ ปี ตามพระวินัย  เราก็รู้สึกลึกๆ ว่าจำเป็นจะต้องหาโอกาสหลีกไปอยู่วิเวก เป็นการส่วนตัว เพื่อรวบรวมกำลังในการพัฒนาตนให้บรรลุธรรมอันลึกซึ้งยิ่งขึ้นกว่านี้ แต่ความชัดเจนเรื่องเวลานั้นยังไม่ทราบ เมื่อไหร่เวลานั้นมาถึงเราก็คงจะรู้ได้เอง เหมือนที่ผ่านมา  

บันทึกโดยย่อไว้ เมื่อ ม.ค. 54